
สังเกตด่วน !.... อาการปวดหลังที่คุณเป็น กำลังเสี่ยงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือไม่ ?
18 พฤษภาคม 2565
คุณกำลังมีอาการเหล่านี้หรือไม่ ?
- ปวดหลัง หรือปวดบริเวณช่วงเอว เป็น ๆ หาย ๆหลังจากทานยาอาการยังไม่ดีขึ้น
- ปวดร้าวจากสะโพกลงไปถึงขาหรือบริเวณเท้าร่วมกับมีอาการชาร่วมด้วย
- เดินได้ไม่นาน ต้องหยุดพัก เนื่องจากมีอาการปวดหลังร้าวถึงบริเวณขา หรือมีอาการชามากขึ้น
- มีอาการอ่อนแรงของขา หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมการขับถ่าย (เกิดขึ้นในรายที่มีอาการรุนแรง)
จากอาการข้างต้น เป็นอาการที่ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ควรระวัง ซึ่งอาจเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โดยส่วนใหญ่พบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการนี้มักอยู่ใน “วัยทำงานมากที่สุด”
สาเหตุของการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากหมอนรองกระดูกที่อยู่บริเวณกระดูกสันหลังถูกทำลายจนเสียหาย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ มาจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก จากการใช้งานที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลังโดยตรงเป็นระยะเวลานาน เช่น การก้มหลังยกของหนัก การนั่งขับรถนาน การทำกิจกรรมที่ต้องก้มๆ เงยๆ เป็นประจำ หรือจากการได้รับบาดเจ็บ จึงทำให้มีอาการปวดเฉพาะที่ เช่น ปวดหลังไม่หาย ปวดบริเวณเอวด้านล่างลงมาถึงสะโพกหรือต้นขาด้านหลัง แต่หากกดทับเส้นประสาทผู้ป่วยจะมีอาการปวดขา อาการชา อ่อนแรง หรือเจ็บบริเวณแนวเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ยิ่งกดทับมากขึ้นเท่าไร อาการปวดจะเพิ่มมากขึ้นจนปวดตลอดเวลา
พฤติกรรมเสี่ยง ที่นำไปสู่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- มีน้ำหนักตัวมากเกินไป
- อุบัติเหตุหกล้ม
- การยกของที่มีน้ำหนักมากเกินไป
- การอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานเกินไป นานมากกว่า 2 ชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ รวมถึงการขับรถระยะทางไกลโดยไม่พัก
- ขาดการออกกำลังกาย หรือการออกกำลังกายที่ส่งผลต่อหมอนรองกระดูกสันหลังมากเกินไป
การตรวจวินิจฉัยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- จากการซักประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียด จะทำให้แพทย์ได้ข้อมูลที่เพียงพอที่จะวินิจฉัยและทำการรักษา
- การเอกซ์เรย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้น และแยกความผิดปกติที่เกิดขึ้นออกจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวด
- ซีทีสแกน แพทย์จะทำซีทีสแกนเพื่อตรวจดูโครงสร้างของแนวกระดูกสันหลังมักจะทำในกรณีที่การวินิจฉัยโรคจากภาพเอกซเรย์แล้วพบมีความผิดปกติของกระดูกสันหลัง
- เอ็มอาร์ไอ(MRI)หรือการทำสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การทำMRI ในการตรวจวินิจฉัยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมักจะทำในกรณีที่แพทย์สงสัยภาวะการกดทับของหมอนรองกระดูกที่รุนแรง การรักษาผู้ป่วยด้วยการให้ยาและการทำกายภาพบำบัดแล้วผู้ป่วยยังคงมีอาการที่ไม่ดีขึ้น ภาพจากการทำMRI จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ตรงจุดและวางแผนการรักษาในขั้นต่อไปให้กับผู้ป่วยได้
การรักษากระดูกทับเส้น
ส่วนใหญ่แล้ว อาการกระดูกทับเส้นจะค่อย ๆ ดีขึ้นหากผู้ป่วยได้พักผ่อน ออกกำลังกาย และรับประทานยาบรรเทาอาการของโรค ซึ่งจะใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 1-3 เดือน อย่างไรก็ตาม วิธีรักษากระดูกทับเส้นมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการและตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกเคลื่อน ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้
- การรักษาแบบประคับประคอง เป็นการรักษาด้วยยาที่ระงับอาการปวดที่เส้นประสาท ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง
- การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง การรักษาวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบประคับประคองแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดจากการที่เส้นประสาทโดนรบกวนที่แพทย์ผู้ทำการรักษาวินิจฉัยว่าไม่ต้องทำการผ่าตัด
- การผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) หรือผ่านกล้องMicroscope โดยทั่วไปจะทำเมื่อการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผลและผู้ป่วยยังมีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง เดินหรือยืนลำบากนานมากกว่า 3-6 เดือน หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้ แพทย์จะผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนและกดทับเส้นประสาทออกไป ซึ่งมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละราย
อาการปวดหลัง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลต่อสุขภาพ ดังนั้นไม่ควรชะล่าใจหรือปล่อยทิ้งไว้ เพราะการเข้ารับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ จะทำให้ผลการรักษาดีกว่า เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง คุณไม่จำเป็นต้องกับอาการปวดที่เกิดขึ้น เพราะการรักษาที่เหมาะสมจะช่วยให้คุณกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพอีกครั้ง
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์กระดูกและข้อ
โทร : 02-408-0103
บทความโดย
