มดตัวจิ๋ว แต่พิษไม่จิ๋ว สำหรับคน “แพ้มด”
12 พฤษภาคม 2563
แพทย์หญิง จุฬามณี วงศ์ธีระญาณี
หากโดนมดดำหรือมดแดงกัด มดจะแค่กัดเราด้วยเคี้ยวแล้วพ่นกรดใส่บาดแผล แต่หากเจอมดคันไฟกัด มดจะทั้งกัดและต่อยด้วยเหล็กในที่ก้นของมดเพื่อฝังพิษ ส่งผลให้ผู้โดนกัดมีอาการปวดแสบปวดร้อนเหมือนถูกไฟลวกบริเวณผิวหนัง ซึ่งพิษของเหล็กในมดคือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการแพ้
แพ้มดหรือไม่สังเกตอย่างไร?
ผู้คนส่วนใหญ่หากโดนมดกัดจะมีเพียงรอยบวมแดงหรือตุ่มหนอง แต่ในผู้ที่แพ้มดไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่จะเกิดผื่นพิษกระจายทั่วตัว หน้าบวม หลอดลมตีบ หายใจไม่ออก ความดันเลือดตกจนเป็นลมหมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ในกรณีเด็กที่แพ้พิษมดเฉพาะที่บริเวณผิวหนัง จะมีอาการแค่เป็นลมพิษ เมื่อถูกมดต่อยซ้ำจะไม่เกิดอาการรุนแรง
- แต่ในกรณีแพ้พิษมดแบบรุนแรง ไม่ว่าจะในเด็กหรือผู้ใหญ่ เมื่อถูกมดต่อยครั้งต่อไปจะมีอาการที่รุนแรงขึ้นมากกว่าเดิม
เป็นคนแพ้มดอย่างรุนแรงต้องป้องกันตัวเองอย่างไร?
- ผู้ที่แพ้มดแบบรุนแรงควรป้องกันตนเอง โดยแต่งกายให้รัดกุมสวมถุงเท้ารองเท้าทุกครั้ง ก่อนออกไปทำงานในสวนหรือบริเวณรอบบ้าน รวมถึงควรจ้างบริษัทกำจัดมดมาดูแลขัดการมดและแมลงรอบบ้าน
- สำหรับผู้ที่ไม่ได้แพ้มด เมื่อถูกกัดต่อยควรทำความสะอาดบริเวณนั้นแล้วใช้น้ำแข็งหรือผ้าเย็นประคบไว้ 2-3 ชั่วโมง โดยอาจใช้ยาแก้แพ้ทาบริเวณที่ถูกกัดต่อย และหากมีตุ่มหนองเกิดขึ้นจากพิษของมดในวันถัดมา ไม่ควรไปแกะเกาให้แตกออกเพราะจะกลายเป็นแผลติดเชื้อได้
วิธีการรักษาอาการแพ้มด
ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ด้วยวิธีทดสอบทางผิวหนังและตรวจเลือด โดยแพทย์จะทำการรักษาโดยการฉีดสารสกัดจากตัวมด ที่มีความเข้มข้นต่ำในปริมาณน้อย แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณให้มากขึ้น จนถึงระดับที่สามารถปรับสภาพภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ทนต่อพิษของมดได้ โดยไม่เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงดังเดิม ยกเว้นในกรณีที่โดนต่อยพร้อมกันหลายสิบตัว ร่างกายได้รับพิษเข้าไปในปริมาณมาก ในกรณีนี้จะไม่ได้ทำให้แพ้ แต่จะไปทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ กระตุ้นสัญญาณประสาท และกดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ อาจทำให้เกิด เส้นประสาทอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ ไตอักเสบได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
